วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

รวมสารพันโรคผู้สูงวัย

วัน ที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยหรือวันมหาสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันสำคัญอีกวันคือ “วันผู้สูงอายุ” ด้วย ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ ซึ่งในวัยนี้จะต้องระมัดระวังและใส่ใจดูแลมากกว่าวัยอื่นๆ เพราะยิ่งอายุเยอะก็มักจะเจอปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เยอะไปตามอายุด้วยเช่นกัน ดังนั้นวันนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพจะขอรวบรวมสารพันโรคที่ผู้สูงอายุควรระวังมาฝากกัน สำหรับโรคที่มักจะพบในวัยนี้ ได้แก่
1.โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่ในผู้สูงอายุ โดยข้อที่พบอาการเสื่อมได้มาก คือข้อที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นด้วย และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่เป็นปกติ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงความผิดปกติภายในข้อ อันประกอบด้วย ผิวของข้อเข่า ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน เริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน กระดูกรอบข้อเกิดการปรับตัว โดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง กระดูกบริเวณข้อเข่า และรอบๆ ข้อ บางลง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง
อาการผิดปกติของผู้ป่วยที่เป็น โรคข้อเข่า เสื่อมในระยะแรก ประกอบด้วย อาการปวดอาจร่วมกับการมีข้อเข่าบวม อาการขัดที่ข้อ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นของข้อ ในขณะเหยียดและงอข้อเข่าจะมีอาการปวด และหรือขัดในข้อมากขึ้น และมีเสียงลั่นในข้อ ซึ่งอธิบายจากการที่ผิวกระดูกภายในข้อเริ่มไม่เรียบและมีกระดูกงอกเกิดขึ้น
อาการปวดที่เกิดในผู้ป่วยบางรายทำให้เกิดการปรับตัวด้วยการไม่เหยียด หรืองอข้อเข่าจนสุด เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ทำให้เกิดปัญหาข้อติดขัด และเคลื่อนไหวไม่เต็มวงของการงอเข่าตามมา เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หรือข้อที่เสื่อมอักเสบนั้นถูกใช้งานมากอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้อาการผิดปกติเหล่านี้เป็นมากขึ้นได้โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมาพบ แพทย์ก็มักจะมาเมื่ออาการต่างๆ เกิดขึ้นพอควรแล้ว หรือไม่สามารถประกอบภารกิจประจำวันได้เหมือนเดิม ซึ่ง อาการหลักๆ ก็คือ อาการปวด ขัด บวม ของข้อเข่า หรือในรายที่มีข้อเข่าโก่งอยู่บ้างแล้วก็มักจะมาด้วยเรื่องเข่าผิดรูป หรือทำให้เกิดปัญหาปวดมากขณะเปลี่ยนท่าเช่นจากนั่งเป็นยืน เมื่อเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีอาการของโรคซึ่งจะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ถ้าหากว่าอาการที่เกิดขึ้นน้อย ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่นๆ ก็สามารถชะลอการเสื่อมของข้อเข่านั้นๆ ได้
วิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยชะลอ การเสื่อม ของข้อเข่านั้น ประกอบด้วยวิธีหลักๆ ดังนี้ หลีกเลี่ยงท่างอข้อเข่ามากๆ เช่น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ และนั่งคุกเข่า หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดหลายๆ ชั้น ควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี ไม่ให้อ้วน  หมั่นขยันบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา ทานยาแก้ปวดเมื่อจำเป็นหรือทานเป็นครั้งคราว ใช้ไม้เท้าช่วยเมื่อต้องเดินเป็นระยะทางไกล หรือเดินในที่ไม่เรียบ
2.โรคกระดูกพรุน เป็นอีกโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุนเกิดจากการลดลงของปริมาณกระดูกในร่างกายร่วมกับมีการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างภายในของกระดูก เป็นผลให้ความแข็งแรงของกระดูกโดยรวมลดลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึง 30-40% ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้มวลกระดูกของผู้หญิงในกลุ่มวัยนี้ลดลงถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนยังพบได้ในภาวะผู้ป่วยที่ได้ รับการตัดรังไข่ 2 ข้าง ผู้ป่วยที่ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดเช่นสารสเตียรอยด์หรือยากันชักบางชนิดและการ สูบบุหรี่ก็อีกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น โดย ทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะมีอาการแสดงซึ่งได้แก่กระดูกหัก ตำแหน่งที่พบบ่อยในโรคกระดูกพรุนได้แก่บริเวณข้อสะโพก,ข้อมือหรือกระดูก สันหลังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ นอกจากนี้ อาการหลังโกง หรือตัวเตี้ยลงมากกว่า 2 เซนติเมตรนั้นอาจเป็นอาการของโรคกระดูกพรุนที่มีการยุบตัวลงของกระดูก สันหลังจึงเป็นภัยเงียบเพราะคนไข้จะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้ว
โรคกระดูกพรุนวินิจฉัยได้จากการตรวจค่าความหนาแน่นของกระดูกด้วย เครื่องมือ DEXA นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ เช่น การขาดวิตามินดี และสามารถตรวจประเมินอัตราการสร้างและสลายของกระดูกได้ การตรวจเพิ่มเติมนี้เพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนการรักษาและติดตามผลการ รักษาอย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยยาในปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ยากลุ่มที่ลดอัตราการสลายกระดูก และยากลุ่มที่เสริมสร้างมวลกระดูก ทั้งนี้การให้ยา แพทย์จำเป็นต้องตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อพิจารณาให้ยาตามความจำเป็น จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนควรมาตรวจภาวะกระดูก พรุน ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเสริมการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว นม และงาดำ โดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุ ควรได้รับแคลเซียม วันละ 1200 มิลลิกรัม ควบคู่กับวิตามินดี 800 ไอยู นอกจากนี้ควรเพิ่มการออกกำลังกายที่เป็นการลงน้ำหนักที่ข้อ เช่นการยกน้ำหนักและการเดิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และควรมีการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลาเช้าหรือเย็น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
3.โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่งในผู้สูงอายุ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาและควบคุมตลอดชีวิต มากกว่าร้อยละ 90 ของโรตความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนโดยปัจจัยเสี่ยงที่ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้แก่ การมีความเครียดสูง บริโภคอาหารรสเค็มหรือเกลือโซเดียมมาก ในผู้สูงอายุ มีการผนังหลอดเลือดแดงมีการแข็งตัวขึ้นและเสียความยืดหยุ่นอาจจะมีผลให้ความ ดันโลหิตในหลอดเลือดสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง คือ ภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป โดยวัดขณะนั่งพัก 5-10 นาทีที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และได้ค่าสูงตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
โรคความดันโลหิตสูงระยะแรกส่วน ใหญ่ไม่มี อาการมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการและที่พบได้บ่อย คือ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ ปวดศีรษะ สำหรับผู้ที่มีความดันสูงรุนแรงอาจมีอาการเหล่านี้ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือเท้าชา ตามัว อัมพาต หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน เป็นต้น โรคนี้ถ้าไม่ได้รักษาเป็นเวลานานๆ ก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกทำให้เป็นอัมพาต, หัวใจล้มเหลว, การทำงานของไตเสื่อมลง ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง เป้าหมายของการรักษาความดันโลหิตสูง คือการควบคุมให้ต่ำกว่า 140 / 90 มม.ปรอท และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือไตเรื้อรัง ควรคุมให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท
แนวทางการรักษา มีดังนี้ เปลี่ยนพฤติกรรมสู่การสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อลดความดันและปัจจัยเสี่ยง ผู้ที่มีความดันสูงเพียงเล็กน้อยความดันจะลดเป็นปกติได้โดยไม่ใช้ยา ได้แก่ เลิกบุหรี่และเหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็มจัด) เพิ่มรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลาและดื่มนมไขมันต่ำ ลดน้ำหนักส่วนเกิน และรู้จักคลายเครียด สำหรับผู้ที่ความดันยังคงสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท หลังจากปรับพฤติกรรมแล้วควรปรึกษาแพทย์ให้ยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ผลดีในการรักษาและควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ เช่น ขับเกลือและน้ำออกทางปัสสาวะ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ขยายหลอดเลือด เป็นต้น ในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องติดตามการรักษา เพื่อประเมินการควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะและเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

4.โรคมะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งหลายชนิดเป็นโรคที่พบมากขึ้นตามอายุ โรคมะเร็งเกิดจากการที่โรคที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายมีการเปลี่ยน แปลงแบ่งตัวแบบกระจายอย่างรวดเร็ว โดยอาจลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงหรือแพร่กระจายไปตามอวัยวะที่สำคัญต่างๆ โรคมะเร็งจะไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง โรคมะเร็งบางชนิดอาจจะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้ามีประวัติครอบครัว ก็อาจจะมีโอกาสโรคสูงกว่าคนทั่วไป สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มะเร็งมีสาเหตุส่งเสริมได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสูบบุหรี่ จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหารแลและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การดื่มสุราเพิ่มโอกาสเกิดโรคตับแข็งซึ่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับตามมา โรคมะเร็งหลายชนิดสามารถตรวจพบเจอได้ตั้งแต่ระยะ เริ่มต้นทำให้รักษาหายขาดได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหลายชนิดจึงมีความสำคัญ ใน ผู้สูงอายุหลังอายุ 50 ปีขึ้นไปควรมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ โดยการตรวจอุจจาระ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพใน การประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่ และในผู้หญิงควรมีการตรวจแมมโมแกรมเต้านมซึ่งเป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซเรย์ (X-Rays) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เต้านม สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กเกินกว่าแพทย์จะคลำได้ โดยปกติควรมีการตรวจทุก 1-2 ปี
5.โรคต้อกระจก เกิดจากการขุ่นของเลนส์ตาหรือแก้วตา ซึ่งโดยปกติจะมีลักษณะใสทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี สำหรับอาการของต้อกระจกส่วนใหญ่ เลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นมัวจากบริเวณส่วนกลาง ในที่มีแสงน้อย เมื่อม่านตาขยาย แสงสามารถผ่านเข้ามาทางส่วนอื่นของเลนส์แก้วตาได้ อาการของโรคต้อกระจกจะมีสายตาค่อย ๆ มัวลงเหมือมีฝ้าหรือหมอกบัง เห็นภาพซ้อน บางรายอาจมีสายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นบ่อยๆ จนกระทั่งแว่นตาก็ไม่สามารถช่วยได้ หรือเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม สีจางลงหรือไม่สดใสเท่าที่เคยเห็น บางคนอาจเกิดการพร่าเวลาขับรถตอนกลางคืน สาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุด คือ ในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาจะขุ่นเพิ่มขึ้น จึงมีผลให้การมองเห็นลดลง นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เป็นเวลานานก็สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้ด้วยเช่นกัน ในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้นาน ต้อกระจกอาจสุก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น ต้อหิน หรือมีการอักเสบภายในลูกตา ทำให้มีตาแดงและปวดตาอย่างมากต้องรีบลอกต้อกระจกออกทันที ซึ่งหากปล่อยถึงระยะดังกล่าวอาจทำให้เกิดตาบอดได้ การที่ต้อกระจกกลายเป็นต้อหินเพราะต้อกระจกพองตัวไปกดในทางระบายน้ำของลูกตา หรือต้อกระจกละลายตัวแล้วเกิดการอักเสบในลูกตา
ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทาน หรือยาหยอดชนิดใดที่จัดว่าได้ผลดีในการรักษาต้อกระจก และยังไม่มีเลเซอร์ที่สามารถสลายต้อกระจกได้ การรักษาหลักคือ การลอกหรือผ่าเอาต้อกระจกนั้นออกโดยจักษุแพทย์ ปัจจุบันนิยมผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อกระจก โดยใช้เครื่องกำเนิดคลื่นเสียงความถี่สูง หลังจากผ่าเอาต้อกระจกซึ่งขุ่นมัวออกแล้ว จักษุแพทย์ก็จะนำเลนส์แก้วตาสังเคราะห์ใส่แทนตำแหน่งเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ชัดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเลนส์สังเคราะห์นี้จะใสเหมือนกระจก แก้วตาเทียมนี้ไม่ต้องถอดออกมาล้างหรือเปลี่ยน และสามารถอยู่ได้ไปตลอดชีวิต
6.โรคสมองเสื่อม ตามข้อมูลทางสถิติ พบว่าอยู่ในอัตราสูงถึง 5-8 เปอร์เซ็นต์ของผู้อายุเกิน 65 ปี และจะมีอัตราการเกิดโรคสูงถึง 20  เปอร์เซนต์ และถ้าอายุเกิน 90 ปีขึ้นไปจะพบถึงครึ่งหนึ่งที่มีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นในผู้ป่วยภาวะสมอง เสื่อมจะพบว่ามีปริมาณ หรือจำนวนเซลล์ของสมองที่ทำงานลดลง จึงทำให้มีปัญหาด้านความจำ ความคิด อารมณ์และบุคลิกภาพของตนผิดไปจากเดิมอย่างมาก ใน ผู้สูงอายุ สาเหตุสมองเสื่อมที่พบบ่อยๆ มีสาเหตุ 2 ประการ คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต ไม่ว่าจะเกิดจากชนิดหลอดเลือดตีบ หรืออุดตัน หรือแตกก็ตาม โรคนี้พบได้ประมาณ 20% โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด และจะมีอาการเลวลงเรื่อยๆ โดยพบราว 70-80% ของผู้ที่มีสมองเสื่อม โรคนี้จะเป็นสาเหตุทำให้สมองฝ่ออย่างรวดเร็ว และมีปัญหาด้านความจำ, การพูด, ความคิด, การกระทำ, อารมณ์, การดำรงชีพ และบุคลิกภาพผิดไปอย่างชัดเจน
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ว่าเกิดจากสิ่งใด มีหลายคนสันนิษฐานว่าเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อ สารพิษตลอดจนระบบภูมิต้านทาน โดยปรกติแพทย์จะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมโดยอาศัยข้อมูลจาก ประวัติ ระยะเวลาเป็นโรค อาการ อาการแสดง ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด และการสืบค้นหาสาเหตุของโรคดังกล่าว ซึ่งอาจประกอบด้วย การเจาะเลือด การเอกเรย์ การตรวจคลื่นสมอง การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง การตรวจการไหลเวียนของเลือดสู่สมองและบางครั้งอาจมีการตรวจชิ้นเนื้อสมองโดย การผ่าตัดพิสูจน์ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวยาต่างๆ มากมาย ในการรักษาโรคนี้ แต่ยังไม่พบว่ามียาชนิดใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคให้หายขาดได้ การรักษามุ่งเน้นที่การรักษาตามตามอาการแบบประคับประคอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ญาติผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีความสุข ไม่วุ่นวายหรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายต่างๆได้ ในรายที่มีอาการทางอารมณ์รุนแรงเอะอะโวยวายหรือวุ่นวายมากๆ บางครั้งก็จำ เป็นต้องให้ยาช่วยระงับจิตใจผู้ป่วย ขนาดยาและระยะเวลาที่ให้จำเป็นต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์
วิธีการง่ายๆ ในการดูแลตัวเองสำหรับผู้สูงอายุ คือการพักผ่อนให้เพียงพอ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง
บทความโดย
แพทย์หญิงพัณณิดา วัฒนพนม
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites