มะเร็งช่องปากคืออะไร?
มะเร็งช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของโรคมะเร็งในกลุ่มโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ
ซึ่งประมาณ 90-95% ของมะเร็งช่องปากจะเป็นชนิด สะความัส (Squamous cell
carcinoma) หรือเรียกย่อว่าชนิด เอสซีซี (SCC) สำหรับมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น
มะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarci noma) หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
พบได้น้อยมากๆ ดังนั้น ในบทความนี้ จึงกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งช่องปากชนิด
เอสซีซี เท่านั้น
มะเร็งช่องปากพบในใคร?
โรคมะเร็งช่องปากพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปโดย เฉพาะในผู้สูงอายุ
อะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งช่องปาก?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก แต่มีการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/เครื่องดื่มมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
อนึ่ง เมื่อทั้งสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากได้สูงกว่าคนปกติถึงประมาณ 15 เท่า และประมาณ
90% ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เป็นผู้มีประวัติสูบบุหรี่
และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การกิน/เคี้ยว หมาก พลู ยาฉุน ยาเส้น เนื่องจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ มีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่
- การ ระคายเคืองของเยื่อเมือกบุช่องปากจากฟันหัก/บิ่น
ที่แหลมคมที่ไม่ได้รับการรักษาฟันผุจนทำให้เหงือกเป็นหนอง
เพราะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆนานๆ
เซลล์ของเยื่อเมือกบุช่องปากจึงอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง
กลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV, Human Papilloma
virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
จากการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex)
- เคยเป็นโรคมะเร็งในบริเวณศีรษะและลำคอมาก่อน
มะเร็งช่องปากมีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่
- มีฝ้าสีขาว (Leukoplakia) หรือสีแดง (Erythroplakia) ในเยื่อเมือกบุช่องปาก และ/หรือลิ้น
- มีแผลในช่องปากที่รักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีตุ่ม หรือก้อนในช่องปากที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บปวด
- ฟันโยก หรือหลุด หรือใส่ฟันปลอมไม่ได้ เนื่องจากมีก้อนเนื้อบริเวณเหงือก พื้นปาก หรือเพดานปาก
- มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร หรือการกลืนอาหาร จากการอุดกั้นของก้อนเนื้อ หรือจากการเจ็บจากแผลมะเร็ง
- มีเลือดออกผิดปกติในช่องปากจากแผลมะเร็ง
- มีก้อนที่ลำคอ ซึ่งคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต คลำได้จากมีโรคมะเร็งลุกลาม แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวด
อนึ่ง หากโรคมะเร็งช่องปาก แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
ก็อาจมีอาการตามอวัยวะนั้นๆที่โรคแพร่กระจายไปได้ เช่น
มะเร็งกระจายไปกระดูก อาจมีอาการปวดตามกระดูกในส่วนต่าง
ๆที่โรคแพร่กระจายไป
มะเร็งช่องปากมีกี่ระยะ?
มะเร็งช่องปากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตน้อยกว่า หรือเท่ากับ 2 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร
- ระยะที่ 3ก้อน/แผล มะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 เซนติเมตร
และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ 1 ต่อมซึ่งขนาดโตไม่เกิน
3 เซนติเมตร เกิดขึ้นเพียงข้างเดียวของลำคอ
- ระยะที่ 4ก้อน/แผล มะเร็งมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ
และ/หรืออวัยวะข้างเคียง และ/หรือ มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอ 1
ต่อมแต่มีขนาดโตกว่า 3 เซนติเมตร และ /หรือ มีโรคลุกลามเข้าต่อม น้ำ
เหลืองมากกว่า 1 ต่อม และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำ เหลือง ลำคอทั้ง 2 ข้าง
และ/หรือ มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต) ไปยังอวัยวะอื่นๆ
ที่พบได้บ่อยคือ ปอด ตับ และกระดูก
รักษามะเร็งช่องปากอย่างไร?
ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งช่องปากนั้น มีการรักษาหลักๆ 3 วิธี คือ การผ่าตัด
รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
และยายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
- การผ่าตัด มัก ใช้รักษาโรคระยะที่ 1 ระยะที่ 2
หรือระยะที่ 3
ซึ่งจะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งร่วมกับเนื้อเยื่อปกติรอบๆก้อนมะเร็งออก
และอาจทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองลำคอออกด้วย หลังผ่าตัด แล้วหากมีข้อบ่งชี้
อาจให้การรักษาต่อด้วยการใช้รังสีรักษา และ/หรือ การให้ยาเคมีบำบัด
- การใช้รังสีรักษา ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ การฉายรังสี
และการฝังแร่ วิธีเลือกการรักษานั้นขึ้นอยู่กับขนาด
และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง โดยทั้ง 2
วิธีนี้เป็นการรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ และ/หรือ ต่อม
น้ำเหลืองบริเวณลำคอ และการรักษาอาจใช้รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว
หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือการใช้ยาเคมีบำบัด
ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
- การให้ยาเคมีบำบัด
เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่าง กาย
โดยการรักษาอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือ การใช้รังสีรักษา
หรืออาจให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหากเป็นการรักษาในผู้ป่วย
ที่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด หรือ ตับ
การรักษามะเร็งช่องปากมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน)
จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับ
และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วม
กัน
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการปวด
การมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด การติดเชื้อ
การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ผ่าตัด
และการบาดเจ็บจากผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
- ผลข้างเคียงจากการรังสีรักษา คือ ในเรื่องของผิวหนัง
และเนื้อเยื่อต่างๆที่ได้รับรังสี
(การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา
และการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ)
- ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย
คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไขกระดูกทำงานต่ำลง ทำให้มีภาวะซีด
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ
(ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
ป้องกันมะเร็งช่องปากได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก
แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้
โดยเฉพาะ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญดังกล่าวแล้ว
นอกจากนั้นควรดูแลสุขภาพในช่องปากทุกวัน ที่สำคัญคือ
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน
และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน ทุกๆ 6-12 เดือน
หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ
|